ลักษณะนักเรียนที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาและนักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิต


ลักษณะนักเรียนที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาและนักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิต

สาเหตุของการเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต

1. จากตัวเด็ก
1.1    กรรมพันธุ์ เด็กบางรายที่มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์จิตใจ อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ในเด็กที่เป็นโรคลมชัก
1.2    เชาว์ปัญญา  ระดับเชาว์ปัญญาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมของเด็ก  เด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีทั้งเด็กเชาว์ปัญญาต่ำและเด็กฉลาด
1.3    สุขภาพร่างกาย เด็กที่เจ็บป่วยบ่อย เจ็บป่วยเรื้อรัง มีความพิการ เป็นสาเหตุของความเครียด และความขัดแย้งทางใจ รวมไปถึงปัญหาทางบุคลิกภาพและกลไกการปรับตัวทางสังคมที่ไม่เหมาะสม
1.4    ลักษณะบุคลิกภาพของตัวเด็กเอง เช่น เด็กมีลักษณะเก็บตัวแยกตัว แสดงออกทางด้านอารมณ์ไม่เหมาะสม ทักษะทางสังคมบกพร่อง

2. จากสิ่งแวดล้อม
            2.1 ภาวะของครอบครัว  ครอบครัวไม่สมบูรณ์  พ่อแม่หย่าร้าง การเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัว เด็กอาศัยอยู่กับคนอื่น เช่น  พ่อเลี้ยง  ญาติพี่น้อง  รูปแบบของครอบครัวที่พ่อหรือแม่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสม หรือบรรยากาศของครอบครัวไม่มีความสุข
            2.2 ฐานะทางครอบครัว  เด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนอาจได้รับความขัดแย้งทางใจในลักษณะของการขาดสิ่งสนับสนุน  สิ่งยั่วยุทางสังคม เช่น ของเล่น เสื้อผ้าราคาแพง การถูกดูหมิ่นจากสังคม การขาดความภาคภูมิใจในตนเอง  ส่วนเด็กที่เกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งได้รับการตามใจมากเกินไป ก็อาจกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต  รวมทั้งเด็กนักเรียนที่มีฐานะทางครอบครัวเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน      เช่น    การล้มละลายเพราะเศรษฐกิจ
พ่อ/แม่ตกงาน
            2.3 การเลี้ยงดู  อิทธิพลการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กเกิดปัญหา   การปกป้องเด็กมากเกินไป      การเลี้ยงดูที่ปฏิเสธไม่รับเด็กเป็นลูก  การเลี้ยงดูอย่างปล่อยปละละเลย  การตั้งความคาดหวังกับเด็กมากเกินไป  พ่อแม่เป็นประสาทหรือเป็นโรคจิต  ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี  หรือการสื่อสารไม่เหมาะสม
            2.4 สิ่งแวดล้อมอื่นๆ  เช่น  ภาวะกดดันจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ชุมชนที่เด็กอยู่อาศัย เช่น ชุมชนแออัด  แหล่งที่มีอบายมุข  และผลกระทบจากสื่อต่างๆ

ลักษณะพฤติกรรมและการแสดงออกที่บ่งว่าเสี่ยงต่อการมีปัญหา

1. การแสดงออกทางพฤติกรรม
            1.1 การแต่งกาย                - แต่งกายผิดระเบียบ
                                                - สกปรก  มอมแมม  ไม่เอาใจใส่ดูแลตนเอง
            1.2 ลักษณะท่าทาง            - กระด้างก้าวร้าว  ไม่มีสัมมาคารวะ  ไม่สุภาพ  ไม่ทำตามคำสั่ง  ดื้อดึง
- เหม่อลอย  เก็บตัว  เซื่องซึม
1.3 การพูด                      - พูดกร้าวร้าวไม่สุภาพ  ไม่เหมาะสม  โต้เถียง  เสียงดัง  เอะอะโวยวาย
                                    - พูดน้อย  ไม่อยากพูด  เงียบขรึม
1.4 การเรียน                   - การเรียนตกต่ำ  ไม่สนใจการเรียน  หนีเรียน  มาโรงเรียนสายประจำ
1.5 พฤติกรรมทางเพศ       - การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน  มั่วสุมทางเพศกับเพื่อนชายหญิง
1.6 ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือเพื่อนไม่ดี  มีเพื่อนน้อย
            1.7 อื่นๆ  เช่น  พกอาวุธ  หรือใช้สารเสพติด

2. การแสดงออกทางด้านอารมณ์และความคิด
            2.1 อารมณ์รุนแรง  โกรธง่ายฉุนเฉียว ไม่รู้จักระงับอารมณ์  ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้
            2.2 วิตกกังวล  เครียด  ย้ำคิด  ย้ำทำ
            2.3 ซึมเศร้าอ่อนไหวง่าย  น้อยอกน้อยใจไม่มีเหตุผล

ลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออกในนักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิตระดับที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ

1. การแสดงออกทางพฤติกรรม   อารมณ์จิตใจ   ไม่เหมาะสมกับอายุ    บทบาททางเพศ     และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่
2. ความถี่ ความรุนแรงและระยะเวลาของการเกิดปัญหา  แตกต่างจากเกณฑ์มาตรฐานที่บุคคลส่วนใหญ่ประพฤติปฏิบัติ
3. การแสดงออกทางบุคลิกภาพ   อารมณ์    จิตใจ  พฤติกรรมมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในกิจวัตรประจำวัน และมีบทบาทร่วมในหน้าที่กิจกรรมทางสังคม
4. การสร้างความสัมพันธ์  การปรับตัวกับบุคคลอื่นในสังคมไม่เหมาะสม
5. การพัฒนาคุณภาพชีวิต  การใช้ความสามารถ  ความสามารถในการดำเนินชีวิตในครอบครัว  การเรียน  การงาน  และกิจกรรมในสังคมลดลง

การประเมินพฤติกรรม

            1. การสังเกต  เป็นการสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ที่นักเรียนแสดงออก    เพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิด 
   ความเชื่อ  ทัศนคติ  การมองโลกของนักเรียน
            2. การสัมภาษณ์  เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก  เช่น   ข้อมูลเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ    ความ
   ปรารถนาวิตกกังวล  การสัมภาษณ์มีข้อดีคือ ครูสามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจคำถามได้ชัดเจน  และ
   ทำให้ครูได้สังเกตปฏิกริยาของเด็กที่มีต่อคำถามต่างๆ   ซึ่งจะนำไปประกอบการพิจารณาในการทำ
   ความเข้าใจพฤติกรรมของนักเรียนได้ดีขึ้น
3. การเก็บข้อมูล  โดยศึกษาจากผลงานต่างๆ ของนักเรียน  เช่น ชีวประวัติ เรียงความ บันทึกประจำวัน
4. การใช้แบบสอบถาม เช่น แบบสอบถามความสนใจ แบบเติมคำให้สมบูรณ์  แบบรวบรวมข้อมูลทั่วไปของนักเรียน
5. จากระเบียนสะสม    เป็นเครื่องมือที่ทำให้ครูได้เห็นภาพพจน์   พัฒนาการของนักเรียน  ด้านร่างกายด้านการเรียน  อารมณ์และสังคม
6. การศึกษาเป็นรายกรณี  เป็นวิธีการศึกษาพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคนอย่างละเอียด  เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุของปัญหา
7. การประเมินโดยใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยา
            - แบบทดสอบเชาว์ปัญญา
            - แบบทดสอบสัมฤทธิผลทางการเรียน
            - แบบทดสอบความถนัด
            - แบบสำรวจความสนใจ
            - แบบประเมินพฤติกรรม
            - แบบทดสอบบุคลิกภาพ
การประเมินปัญหาของเด็กโดยใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยา    ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม      สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงก็คือ การตีความที่ต้องผ่านการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน  และในบางกรณีอาจต้องใช้แบบทดสอบมากกว่า 1ชนิดเพื่อให้ได้รายละเอียดเกี่ยวกับเด็กและแนวทางการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมได้ต่อไป


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โครงงานประเภทการสำรวจ (Survey Research Project)

แนวข้อสอบพร้อมเฉลย วิชาพลังงาน

โครงงานประเภทการพัฒนาหรือการประดิษฐ์ (Developmental Research Project or Invention)