ความสำคัญและประโยชน์ของกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์



ความสำคัญและประโยชน์ของกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์

                ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 22 กำหนดว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
                สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (2547 : 4) กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ระยะที่ 9  (พ.ศ.2545 2549) ได้เน้นย้ำมุ่งให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่สร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน คิดเป็น ทำเป็น มีเหตุผล สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต รู้จักใช้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลายเพื่อสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาตนเอง ซึ่งการจะหล่อหลอมให้เกิดคุณลักษณะดังกล่าวได้ ต้องฝึกให้รู้จักใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อถือได้และกระบวนการที่สร้างความรู้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบ คือ การวิจัยซึ่งแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา (ระยะที่ 9) ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การวิจัยเป็นแนวทางการดำเนินการหนึ่งที่นำไปสู่การสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
                และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บททางการศึกษาของไทย ยังได้ให้ความสำคัญกับการวิจัย และกำหนดไว้หลายมาตรา ที่ชี้ให้เห็นว่า การวิจัยเป็นกระบวนการที่ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาซึ่งเป็นกลไกที่นำไปสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ กล่าวถือ มาตรา 24(5) ระบุให้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ผู้เรียน สามารถใช้การวิจัย เพื่อศึกษาเรื่องที่น่าสนใจและต้องการหาความรู้ใหม่  หรือต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การวิจัยจึงสัมพันธ์กับกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยฝึกกระบวนการคิด การจัดการหาเหตุผลในการตอบปัญหา และรู้จักประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
                ในความคิดเห็นของผู้เขียน การวิจัยสำหรับนักเรียนไม่ว่าจะเป็นระดับเด็กชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ก็คือ การทำโครงงานนั่นเอง  และกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นการสอนที่เน้นผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล มีกระบวนการทำงานและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ครูมีบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษาและกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เต็มตามศักยภาพ จากกรมวิชาการ (2544 : ก)
                กิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงาน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้สอนได้ทุกกลุ่มประสบการณ์ / กลุ่มวิชา และทุกระดับชั้น


สถาบันส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2546 : 4) ได้กล่าวว่าการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในสถานศึกษามีเป้าหมายสำคัญดังนี้
1.             เพื่อให้เข้าใจหลักการ ทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานในวิทยาศาสตร์
2.             เพื่อให้เข้าใจขอบเขต ธรรมชาติ และข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์
3.             เพื่อให้มีทักษะสำคัญในการศึกษาค้นคว้าและคิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
4.             เพื่อพัฒนากระบวนการคิดและจินตนาการ ความสามารถในการแก้ปัญหาและการจัดการ ทักษะในการสื่อสาร และความสามารถในการตัดสินใจ
5.             เพื่อให้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มวลมนุษย์และสภาพแวดล้อมในเชิงที่มีอิทธิพลและผลกระทบซึ่งกันและกัน
6.             เพื่อนำความรู้ความเข้าใจในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและการดำรงชีวิต
7.             เพื่อให้มีจิตวิทยาศาสตร์ มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์
การจัดการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของ หลักสูตรทั้ง 7 ประการ ดังกล่าว เป็นการยากที่จะดำเนินการโดยใช้กิจกรรมการเรียนการสอนตามบทเรียน และเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรงในการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนในการศึกษาค้นคว้าหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ นับตั้งแต่การกำหนดปัญหาหรือเลือกปัญหาที่จะศึกษา การวางแผนการแก้ปัญหาหรือวางแผนการศึกษาค้นคว้า ซึ่งได้แก่การตั้งสมมุติฐานการออกแบบการทดลองและการควบคุมตัวแปร การดำเนินการศึกษาหรือทดลองเพื่อตรวจสอบสมมุติฐาน ตลอดจนการสรุปผลของการศึกษาค้นคว้า ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขในเรื่องเวลาที่มีจำกัด และเนื้อหาในหลักสูตรที่ครูจะต้องสอนให้ครบภายในเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นการพัฒนานักเรียนให้มีเจตคติที่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ มีจิตวิทยาศาสตร์ มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์  ก็เป็นการยากที่จะพัฒนาได้โดยเพียงอาศัยกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติเท่านั้น เจตคติทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ได้แก่ ความเป็นผู้มีเหตุผล ความสนใจใฝ่รู้ ความมุ่งมั่น อดทน รอบคอบ ความรับผิดชอบ ประหยัด มีใจกว้าง มีความซื่อสัตย์และมีใจเป็นกลาง มีความเพียรพยายาม มีความละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจ ฯลฯ  การที่จะสอนนักเรียนให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงลักษณะขอบเขต ธรรมชาติและข้อจำกัดของวิชาวิทยาศาสตร์ ก็เป็นเรื่องยากที่จะสอนโดยใช้กิจกรรมการเรียนตามปกติได้เช่นเดียวกัน การทำโครงงานวิทยาศาสตร์จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจพัฒนาเจตคติทางวิทยาศาสตร์จิตวิทยาศาสตร์และทักษะที่สำคัญ ๆ ในการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้นซึ่งจะช่วยให้เป้าหมายของหลักสูตรสัมฤทธิผลสมบูรณ์ขึ้น ทั้งนี้เพราะนักเรียนจะต้องดำเนินการศึกษาค้นคว้าและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ประสบปัญหาและแก้ปัญหาต่าง ๆ  ด้วยตัวของนักเรียนเองได้มีโอกาสรับประสบการณ์ตรงในกระบวนการเสาะแสวงหาความรู้ และมีโอกาสฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ
                ธีระชัย  ปูรณโชติ (2531:3) ได้กล่าวถึง ความสำคัญและประโยชน์ของกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ อาจสรุปได้ดังต่อไปนี้
1.             ช่วยส่งเสริมให้จุดมุ่งหมายของหลักสูตรและการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สัมฤทธิผลโดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
2.             ช่วยให้นักเรียนมีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในกระบวนการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
3.             ช่วยพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในกระบวนการแสวงหาความรู้ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าการเรียนในกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติ มีโอกาสได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์บางทักษะซึ่งไม่ใคร่มีโอกาสในกิจกรรมการเรียนตามปกติ เช่น ทักษะการตั้งสมมุติฐาน ทักษะการออกแบบการทดลองและควบคุมตัวแปร เป็นต้น
4.             ช่วยพัฒนาจิตวิทยาศาสตร์ เจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์
5.             ช่วยให้นักเรียนเข้าใจลักษณะและธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ดียิ่งขึ้น เช่น เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้หมายถึงแต่ตัวความรู้ในเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงกระบวนการแสวงหาความรู้เหล่านั้น และเจตคติหรือค่านิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์อีกด้วย การได้มาซึ่งความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติจะต้องใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ซึ่งได้จากการรวบรวมข้อมูลอย่างมีระบบโดยอาศัยการสังเกตเป็นพื้นฐาน แต่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ ซึ่งใช้ในการสังเกตมีขีดความสามารถจำกัดในการรับรู้ ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงมีขอบเขตจำกัดด้วย ฯลฯ
6.             ช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความเป็นผู้มีวิจารณญาณ
7.             ช่วยพัฒนานักเรียนให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง
8.             ช่วยพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้ที่คิดเป็น ทำเป็น และมีความสามารถในการแก้ปัญหา
9.             ช่วยพัฒนาความรับผิดชอบและสร้างวินัยในตนเองให้เกิดขึ้นกับนักเรียน
10.      ช่วยให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และมีคุณค่า



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบพร้อมเฉลย วิชาพลังงาน

โครงงานประเภทการสำรวจ (Survey Research Project)

โครงงานประเภทการพัฒนาหรือการประดิษฐ์ (Developmental Research Project or Invention)