รูปแบบการเรียนการสอนโดยการนำเสนอมโนทัศน์กว้างล่วงหน้า (Advance Organizer Model)



รูปแบบการเรียนการสอนโดยการนำเสนอมโนทัศน์กว้างล่วงหน้า (Advance Organizer Model)
ก.  ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
การสำเสนอมโนทัศน์กว้างล่วงหน้า(Advanced Organizer) เพื่อการเรียนรู้อย่างมี
ความหมาย (meaningful verbal learning) การเรียนรู้จะมีความหมายเมื่อสิ่งที่เรียนรู้สามารถเชื่อมโยงกับความรู้เดิมของผู้เรียน ดังนั้นในการสอนสิ่งใหม่ สาระความรู้ใหม่ ผู้สอนควรวิเคราะห์หาความคิดรวบยอดย่อย ๆ ของสาระที่จะนำเสนอ จัดทำผังโครงสร้างของความคิดรวบยอดเหล่านั้นแล้ววิเคราะห์หามโนทัศน์หรือความคิดรวบยอดที่กว้างครอบคลุมความคิดรวบยอดย่อย ๆ ที่จะสอน หากครูนำเสนอมโนทัศน์ที่กว้างดังกล่าวแก่ผู้เรียนก่อนการสอนเนื้อหาสาระใหม่ ขณะที่ผู้เรียนกำลังเรียนรู้สาระใหม่ ผู้เรียนจะสามารถ นำสาระใหม่นั้นไปเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับมโนทัศน์กว้างที่ให้ไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายต่อผู้เรียน
                         ข.   วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
                                เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระ ข้อมูลต่าง ๆ อย่างมีความหมาย
                         ค.    กระบวนการเรียนการสอน
                                ขั้นที่ 1 การจัดเตรียมมโนทัศน์กว้าง โดยการวิเคราะห์หามโนทัศน์ที่กว้างและครอบคลุมเนื้อหาสาระใหม่ทั้งหมด มโนทัศน์ที่กว้างนี้ ไม่ใช่สิ่งเดียวกับมโนทัศน์ใหม่ที่จะสอน แต่จะเป็นมโนทัศน์ในระดับที่เหนือขึ้นไปหรือสูงกว่า ซึ่งจะมีลักษณะเป็นนามธรรมมากกว่า ปกติมักจะเป็นมโนทัศน์ของวิชานั้นหรือสายวิชานั้น ควรนำเสนอมโนทัศน์กว้างนี้ล่วงหน้าก่อนการสอน จะเป็นเสมือนการ”preview” บทเรียน ซึ่งจะเป็นคนละอย่างกับการ”over view” หรือการให้ดูภาพรวมของสิ่งที่จะสอน การนำเสนอภาพรวมของสิ่งที่จะสอน การทบทวนความรู้เดิม การซักถามความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียนเกี่ยวกับเรื่องที่จะสอน การบอกวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน เหล่านี้ ไม่นับว่าเป็น “advance organizer” ซึ่งจะต้องมีลักษณะที่กว้างครอบคลุม และมีความเป็นนามธรรมอยู่ในระดับสูงกว่าสิ่งที่จะสอน
                                ขั้นที่ 2  การนำเสนอมโนทัศน์กว้าง
1)  ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์ของบทเรียน
2)  ผู้สอนนำเสนอมโนทัศน์กว้างด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นการบรรยายสั้น ๆ แสดง
แผนผังมโนทัศน์ ยกตัวอย่าง หรือใช้การเปรียบเทียบ เป็นต้น
                                ขั้นที่ 3  การนำเสนอเนื้อหาสาระใหม่ของบทเรียน
                                             ผู้สอนนำเสนอเนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามปกติแต่ในการนำเสนอ ผู้สอนควรกล่าวเชื่อมโยงหรือกระตุ้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงกับมโนทัศน์ที่ให้ไว้ล่วงหน้าเป็นระยะ ๆ
                                ขั้นที่ 4  การจัดโครงสร้างความรู้
                                             ผู้สอนส่งเสริมกระบวนการจัดโครงสร้าง ความรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมการผสมผสานความรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนตื่นตัวในการเรียนรู้ และทำความกระจ่างในสิ่งที่เรียนรู้ โดยใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น
1)  อธิบายภาพรวมของเรื่องที่เรียน
2)  สรุปลักษณะสำคัญของเรื่อง
3)  บอกหรือเขียนคำนิยามที่กะทัดรัดชัดเจน
4)  บอกความแตกต่างของสาระในแง่มุมต่าง ๆ
5)  อธิบายว่าเนื้อหาสาระที่เรียนสนับสนุนหรือส่งเสริมมโนทัศน์กว้างที่ให้ไว้
ล่วงหน้าอย่างไร
6)  อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาสาระใหม่กับมโนทัศน์กว้างที่ให้ไว้
ล่วงหน้า
7)  ยกตัวอย่างเพิ่มเติมจากสิ่งที่เรียน
8)  อธิบายแก่นสำคัญของสาระที่เรียนโดยใช้คำพูดของตัวเอง
9)  วิเคราะห์สาระในแง่มุมต่าง ๆ
                         ง.     ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนรู้ตามรูปแบบ
  ผลโดยตรงที่ผู้เรียนจะได้รับก็คือ เกิดการเรียนรู้ในเนื้อหาสาระและข้อมูลของบทเรียน
อย่างมีความหมาย เกิดความคิดรวบยอดในสิ่งที่เรียน และสามารถจัดโครงสร้างความรู้ของตนเองได้ นอกจากนั้นยังได้พัฒนาทักษะและอุปนิสัยในการคิดและเพิ่มพูนความใฝ่รู้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบพร้อมเฉลย วิชาพลังงาน

โครงงานประเภทการสำรวจ (Survey Research Project)

โครงงานประเภทการพัฒนาหรือการประดิษฐ์ (Developmental Research Project or Invention)