รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการพัฒนาด้านจิตพิสัยของบลูม
รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการพัฒนาด้านจิตพิสัยของบลูม
(Instructional
Model Based on Bloom’s Affective Domain)
ก.
ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
บลูม (Bloom, 1956) ได้จำแนกจุดมุงหมายทางการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน คือด้านความรู้ (cognitive
domain) ด้านเจตคติหรือความรู้สึก (affective domain) และด้านทักษะ (psycho-motor domain)
ซึ่งในด้านเจตคติหรือความรู้สึกนั้น บลูมได้จัดขั้นการเรียนรู้ไว้ 5
ขั้นประกอบด้วย
1) ขั้นการรับรู้ ซึ่งก็หมายถึง
การที่ผู้เรียนได้รับรู้ค่านิยมที่ต้องการจะปลูกฝังในตัวผู้เรียน
2) ขั้นการตอบสนอง
ได้แก่การที่ผู้เรียนได้รับรู้และเกิดความสนใจในค่านิยมนั้น แล้วมี
โอกาสได้ตอบสนองในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
3.) ขั้นการเห็นคุณค่า
เป็นขั้นที่ผู้เรียนได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับค่านิยมนั้น แล้วเกิดเห็น
คุณค่าของค่านิยมนั้น
ทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อค่านิยมนั้น
4) ขั้นการจัดระบบ
เป็นขั้นที่ผู้เรียนรับค่านิยมที่ตนเห็นคุณค่านั้นเข้ามาอยู่ในระบบค่านิยม
ของตน
5) ขั้นการสร้างลักษณะนิสัย
เป็นขั้นที่ผู้เรียนปฏิบัติตนตามค่านิยมที่รับมาอย่างสม่ำเสมอ
และทำจนกระทั่งเป็นนิสัย
ถึงแม้ว่าบลูมได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวเพื่อใช้ในการกำหนดวัตถุประสงค์ในการเรียน
การสอนก็ตาม
แต่ก็สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อช่วยปลูกฝังค่านิยมให้แก่ผู้เรียนได้
ข.
วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาความรู้สึก/เจตคติ/ค่านิยม/คุณธรรมหรือจริยธรรมที่พึงประสงค์
อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นไปตามความต้องการ
ค.
กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
การสอนเพื่อปลูกฝังค่านิยมใด ๆ ให้แก่ผู้เรียน สามารถดำเนินการตามลำดับขั้นของวัตถุประสงค์ทางด้านเจตคติของบลูมได้ดังนี้
ขั้นที่ 1
การรับรู้ค่านิยม
ผู้สอนจัดประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้รับรู้ค่านิยมนั้นอย่างใส่ใจ
เช่น เสนอกรณีตัวอย่างที่เป็นประเด็นปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับค่านิยมนั้น
คำถามที่ท้าทายความคิดเกี่ยวกับค่านิยมนั้น เป็นต้น
ในขั้นนี้ผู้สอนควรพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมดังนี้
1) การรู้ตัว
2) การเต็มใจรับรู้
3) การควบคุมการรับรู้
ขั้นที่ 2
การตอบสนองต่อค่านิยม
ผู้สอนจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนมีโอกาสตอบสนองต่อค่านิยมนั้นในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
เช่น ให้พูดแสดงความคิดเห็นต่อค่านิยมนั้น ให้ลองทำตามค่านิยมนั้น
ให้สัมภาษณ์หรือพูดคุยกับผู้ที่มีค่านิยมนั้น เป็นต้น ในขั้นนี้ผู้สอนควรพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมดังนี้
1) การยินยอมตอบสนอง
2) การเต็มใจตอบสนอง
3) ความพึงพอใจในการตอบสนอง
ขั้นที่ 3
การเห็นคุณค่าของค่านิยม
ผู้สอนจัดประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นคุณค่าของค่านิยมนั้น
เช่น การให้ลองปฏิบัติตามค่านิยมแล้วได้รับการตอบสนองในทางที่ดี
เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตนหรือบุคคลอื่นที่ปฏิบัติตามค่านิยมนั้น
เห็นโทษหรือได้รับโทษจากการละเลยไม่ปฏิบัติตามค่านิยมนั้น เป็นต้น ในขั้นนี้ผู้สอนควรพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมดังนี้
1) การยอมรับในคุณค่านั้น
2) การชื่นชอบในคุณค่านั้น
3) ความผูกพันในคุณค่านั้น
ขั้นที่ 4 การจัดระบบค่านิยม
เมื่อผู้เรียนเห็นคุณค่าของค่านิยมและเกิดเจตคติที่ดีต่อค่านิยมนั้น
และมีความโน้มเอียงที่จะรับค่านิยมนั้นมาใช้ในชีวิตของตน
ผู้สอนควรกระตุ้นให้ผู้เรียนพิจารณาค่านิยมนั้นกับค่านิยมหรือคุณค่าอื่น ๆ ของตน
ในขั้นนี้ผู้สอนควรกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมสำคัญดังนี้
1) การสร้างมโนทัศน์ในคุณค่านั้น
2) การจัดระบบในคุณค่านั้น
ขั้นที่ 5
การสร้างลักษณะนิสัย
ผู้สอนส่งเสริมให้ผู้เรียนปฏิบัติตนตามค่านิยมนั้นอย่างสม่ำเสมอโดยติดตามผลการปฏิบัติและให้ข้อมูลป้อนกลับและการเสริมแรงเป็นระยะ
ๆ จนกระทั่งผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้จนเป็นนิสัย
ในขั้นนี้ผู้สอนควรพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมดังนี้
1) การมีหลักยึดในการตัดสินใจ
2) การปฏิบัติตามหลักยึดนั้นจนเป็นนิสัย
3) การดำเนินการในขั้นตอนทั้ง
5 ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น ต้อง
อาศัยเวลา โดยเฉพาะในขั้นที่ 4 และ 5
ต้องการเวลาในการปฏิบัติ ซึ่งอาจจะมากน้อยแตกต่างกันไปในผู้เรียนแต่ละคน
ง. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ
ผู้เรียนจะได้รับการปลูกฝังค่านิยมที่พึงประสงค์จนถึงระดับที่สามารถปฏิบัติได้จนเป็น
นิสัย
นอกจากนั้นผู้เรียนยังได้เรียนรู้กระบวนการในการปลูกฝังค่านิยมให้เกิดขึ้น
ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปปลูกฝังค่านิยมอื่น ๆให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น