ขอบข่ายงานแนะแนวในโรงเรียน
ขอบข่ายงานแนะแนวในโรงเรียน
การแนะแนว หมายถึง
กระบวนการช่วยเหลือบุคคลให้รู้จัก ยอมรับและเข้าใจตนเอง ตลอดจนรู้จัก และเข้าใจผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมให้เขาค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล
มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ศีลธรรม จริยธรรม มีทักษะการดำเนินชีวิต
รู้จักคิด ตัดสินใจ เลือกวิธีที่จะเผชิญและแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม
สามารถวางแผนชีวิต
วางแผนการศึกษาต่อและประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมกับตนเอง เป็นพลเมืองและพลโลกที่ดี สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและเป็นประโยชน์
ดังนั้นเพื่อตอบสนองต่อปรัชญาการแนะแนวดังกล่าว งานแนะแนว จึงเป็นงานที่มีกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับงานและบุคคลอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
โดยมีเป้าหมายสำคัญในการป้องกัน ส่งเสริม แก้ไขและช่วยเหลือนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพสังคมในปัจจุบันท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายทั้งด้านเศรษฐกิจ
การเมือง สังคม การศึกษาและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต กระบวนการคิด
และพฤติกรรมของนักเรียนเป็นอย่างมาก ครูแนะแนวจึงจำเป็นต้องมีความรู้
ความเข้าใจในกระบวนการแนะแนวอย่างลึกซึ้งและชัดเจน ตลอดจนมีความสามารถในการประสานสัมพันธ์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องทั้งงานและบุคคล หรือกล่าวได้ว่า
ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินงาน
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำงานแนะแนวสามารถประสานเชื่อมโยงกับงานอื่นๆ
ในโรงเรียนได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน
และช่วยให้การทำงานทำงานแนะแนวประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม
คือการกำหนดขอบข่ายงานแนะแนวให้ชัดเจนและทำความเข้าใจเนื้อแท้ในการทำงานตามขอบข่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการงานแนะแนว ทำให้ครูแนะแนวมีทิศทางในการดำเนินงาน และสามารถประสานการทำงานแนะแนวเข้ากับงานและบุคคลต่าง
ๆ ในโรงเรียนได้อย่างกลมกลืน โดยการกำหนดขอบข่ายของงานแนะแนวในปัจจุบันจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ
ได้แก่ ศาสตร์ของการแนะแนว
กรอบแนวคิดในการพัฒนานักเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงนโยบาย
จุดเน้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช่วยเหลือนักเรียนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้วขอบข่ายของงานแนะแนวในปัจจุบันที่มีการบูรณาการงานกับองค์ประกอบต่าง
ๆดังกล่าว ควรครอบคลุมงาน 3 ด้าน คือ การจัดบริการแนะแนวตามศาสตร์ของการแนะแนว
การจัดกิจกรรมแนะแนวตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการประสานกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนตามนโยบายของกระทรวง
ศึกษาธิการ
ซึ่งงานแต่ละด้านมีภารกิจตามลักษณะงาน และมีความเชื่อมโยง
เกี่ยวพันกันอย่างกลมกลืน ดังแสดงด้วยแผนผังต่อไปนี้
จากแผนผังแสดงขอบข่ายงานแนะแนวดังกล่าว แสดงภาพความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างกลมกลืนระหว่างการจัดบริการแนะแนว การจัดกิจกรรมแนะแนว
และการประสานกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
ซึ่งล้วนเป็นภาระงานสำคัญในการพัฒนาและช่วยเหลือนักเรียน ภารกิจตามลักษณะงาน ทั้ง 3
ด้านอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
1. งานบริการแนะแนว เป็นการจัดบริการตามศาสตร์ของการแนะแนว
ซึ่งประกอบด้วยบริการหลัก 5 บริการ ได้แก่
บริการศึกษาข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล
บริการสนเทศ บริการจัดวางตัวบุคคล บริการให้การปรึกษา และบริการติดตามผล
2. งานจัดกิจกรรมแนะแนว
เป็นการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนานักเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2551
โดยมีขอบข่ายการจัดกิจกรรม 3 ด้าน
คือ แนะแนวการศึกษา แนะแนวอาชีพ
และแนะแนวส่วนตัวและสังคม
โดยในปัจจุบันมีการกำหนดจำนวนชั่วโมงให้โรงเรียนจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนานักเรียนในแต่ละระดับชั้นไว้อย่างชัดเจนในโครงสร้างเวลาเรียนของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2551
3. งานประสานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นการทำงานประสาน เอื้ออำนวย
และช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนของงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ได้แก่
·
การประสานช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล
·
การประสานช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการคัดกรอง
·
การประสานช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการส่งเสริม
และพัฒนานักเรียน
·
การประสานช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการช่วยเหลือ
แก้ไขนักเรียนกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มมีปัญหา
รวมถึงการรับการส่งต่อนักเรียนจากครูที่ปรึกษา
จากแผนผังแสดงขอบข่ายของงานแนะแนว
จะเห็นว่ามีภาระงานที่ครูแนะแนวต้องทำมากมายหลายเรื่อง
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัญหาสำหรับบางโรงเรียนที่มีครูแนะแนวไม่เพียงพอต่อภาระงาน แต่เมื่อพิจารณางานในแต่ละด้านอย่างรอบคอบแล้ว
จะพบว่างานทั้ง 3 ด้านมีการประสานเชื่อมโยงกันอย่างกลมกลืน
หากดำเนินงานด้วยความเข้าใจแล้ว ยังจะเป็นการช่วยลดภาระงานที่ซับซ้อน ยุ่งยากลงได้
แนวทางการประสานเชื่อมโยงงานทั้ง 3 อย่างเข้าด้วยกัน
ตามแผนผังแสดงขอบข่ายงานแนะแนว เริ่มต้นที่งานบริการแนะแนวทั้ง 5 บริการ
ซึ่งเป็นงานหลักของครูแนะแนวตามศาสตร์ในวิชาชีพการแนะแนว
และมีการเชื่อมโยงไปยังงานจัดกิจกรรมแนะแนวและงานประสานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
โดยสามารถอธิบายภาพการเชื่อมโยงได้ดังต่อไปนี้
1. บริการศึกษาข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล
( Individual Inventory Service )
เป็นบริการที่ช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจนักเรียนมากขึ้นด้วยความตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
โดยใช้เทคนิคและวิธีการต่างๆ ในการศึกษาข้อมูลของนักเรียนทุกด้าน ทั้งด้านส่วนตัว
ครอบครัว สุขภาพ การเรียน สังคม ความสามารถ ความถนัด ความสนใจ บุคลิกภาพ ฯลฯ
และมีการศึกษาและรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ
ด้วยลักษณะงานของการจัดบริการศึกษาข้อมูลนักเรียนของครูแนะแนว
เป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนด้วย
โดยการช่วยจัดหาเครื่องมือที่ง่ายและสะดวกต่อการศึกษารวบรวมข้อมูลนักเรียนสำหรับครูที่ปรึกษา เช่น
แบบสอบถามข้อมูลประวัติส่วนตัวนักเรียนด้านต่าง ๆ แบบบันทึกการเยี่ยมบ้าน แบบสังเกตพฤติกรรม แบบสัมภาษณ์นักเรียน และผู้ปกครอง
เป็นต้น
แนะนำการใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาอื่น ๆ
เพื่อการรู้จักนักเรียนเพิ่มเติม เช่น
แบบประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน (SDQ)
และประสานแจ้งผลการสำรวจ
/การทดสอบทางจิตวิทยาและการแนะแนวให้ครูที่ปรึกษาทราบ เช่น ผลจากการประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (EQ
ผลจากการวัดทางสุขภาพจิต ผลการสำรวจบุคลิกภาพ ผลการสำรวจทิศทางความสนใจในอาชีพ
2. บริการสนเทศ ( Information
Service )
เป็นการจัดบริการข่าวสารข้อมูลด้านการศึกษาด้านอาชีพ ด้านส่วนตัวและสังคมแก่นักเรียน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
และการวางแผนการศึกษาต่อและอาชีพ ตลอดจนการดำเนินชีวิตของนักเรียน โดยจัดนำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เช่น
ป้ายนิเทศ สื่ออิเลคทรอนิกส์ การจัดนิทรรศการ การเชิญวิทยากร การศึกษาดูงาน
เป็นต้น
การจัดบริการสนเทศทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าวข้างต้น
จะเป็นประโยชน์เชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมแนะแนวได้อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนานักเรียนก็มีขอบข่าย 3 ด้านนี้เช่นกัน
อีกทั้งยังเป็นประโยชน์เชื่อมโยงไปยังงานในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เนื่องจากสามารถช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการป้องกันส่งเสริมและพัฒนานักเรียนทุกคนได้
3.
บริการให้การปรึกษา ( Counseling Service ) เป็นการจัดกระบวนการที่มีหลักการ
ขั้นตอน และจุดมุ่งหมายในการปรึกษาที่ชัดเจนตามหลักการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ช่วยให้นักเรียนรู้จัก เข้าใจ
ยอมรับตนเองและปัญหาที่กำลังเผชิญ
ได้เรียนรู้และค้นหาเหตุแห่งปัญหา
หาทางจัดการกับปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง อีกทั้งจัดการศึกษารายกรณี
และประสานการจัดประชุมปรึกษารายกรณี
เพื่อการช่วยเหลือนักเรียนอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การจัดบริการให้การปรึกษา ควรครอบคลุมด้านการศึกษาต่อ ด้านอาชีพ ด้านส่วนตัวและสังคม เช่นกัน โดยมีความเชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมแนะแนว คือเป็นบริการที่รองรับการให้การช่วยเหลือนักเรียนที่ครูแนะแนวพบว่ามีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือมีเรื่องที่ควรได้รับการแก้ไข
ช่วยเหลือหรือพัฒนา จากการสังเกตพฤติกรรมนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมแนะแนว การแสดงออก หรือชิ้นงานที่นักเรียนทำ
อีกทั้งยังเป็นประโยชน์เชื่อมโยงไปยังงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนในส่วนของการให้ความร่วมมือช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง
และกลุ่มมีปัญหาด้วยตนเอง
ตลอดจนประสานการส่งต่อนักเรียนจากครูที่ปรึกษาทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน กรณีที่ยากต่อการช่วยเหลือของครูที่ปรึกษา
4. บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service )
เป็นบริการที่จัดเพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ ได้รับการช่วยเหลือ
หรือได้รับการฝึกฝนตามแต่กรณี
โดยจัดความช่วยเหลือนักเรียนในรูปแบบวิธีการที่หลากหลาย
ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ด้านส่วนตัวและสังคม เช่น
ช่วยเหลือนักเรียนในการเลือกเรียนแผนการเรียนที่เหมาะสม ได้ร่วมกิจกรรมที่ตอบสนองต่อความถนัด
ความสามารถและความสนใจ
การช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องการทำงานพิเศษ
การจัดหาทุนการศึกษาและทุนอาหารกลางวัน
เป็นต้น
ด้วยลักษณะของการบริการจัดวางตัวบุคคลดังกล่าว
จึงเป็นประโยชน์เชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมแนะแนว
และการประสานช่วยเหลือครูที่ปรึกษาในการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนได้เช่นกัน
5. บริการติดตามผล ( Follow-up Service ) เป็นบริการที่มีระบบ ขั้นตอน ในการติดตามประเมินผลคุณภาพการให้บริการ
การจัดกิจกรรมแนะแนว และการจัดงาน โครงการต่างๆ
ของงานแนะแนวเพื่อนำผลที่ได้ไปแก้ไข ปรับปรุง
และพัฒนาการวางแผนงานแนะแนวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การติดตามผลการจัดบริการแนะแนวด้านต่าง ๆ
จะทำให้ครูแนะแนวมีข้อมูลในการประเมินการดำเนินการช่วยเหลือว่าต้องดำเนินการต่อหรือยุติการช่วยเหลือเมื่อนักเรียนได้พัฒนาตามวัตถุประสงค์แล้ว
และเชื่อมโยงเป็นประโยชน์กับการจัดกิจกรรมแนะแนว
ด้วยการนำผลการติดตามประเมินผลการใช้หลักสูตรและแผนการจัดกิจกรรมแนะแนว และการติดตามผลการพัฒนาตนของนักเรียนมาปรับปรุงการจัดกิจกรรมแนะแนวให้มีประสิทธิภาพในการพัฒนานักเรียนยิ่งขึ้น
ตลอดจนเป็นประโยชน์เชื่อมโยงกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียน
คือเป็นการช่วยให้ครูที่ปรึกษาได้เห็นผลของการดำเนินงานให้การดูแลช่วยเหลือและส่งเสริมนักเรียนในความดูแลของตนเอง
ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนางานให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
อนึ่ง
เพื่อให้การดำเนินงานตามขอบข่ายงานแนะแนวทั้ง 3 ด้าน
มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นควรมีการประสานสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้อง เช่นประสานกับเครือข่ายผู้ปกครอง หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในชุมชน
รวมทั้งเครือข่ายนักเรียนด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น