โครงสร้างของเนื้อเยื่อเจริญ


โครงสร้างของเนื้อเยื่อเจริญ

            เนื้อเยื่อเจริญคือ เนื้อเยื่อพืชซึ่งประกอบด้วยเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวแบบไมโทซิส (Mitosis) ได้ตลอดเวลา ลักษณะเป็นเซลล์ที่มีชีวิต มีรูปร่างหลายแบบ ส่วนมากรูปร่างหลายเหลี่ยมหรือค่อนข้างกลม มีขนาดเล็ก ผนังเซลล์บาง นิวเคลียสใหญ่ ไซโทพลาสซึมเต็มเซลล์ แวคิวโอลเล็กหรือไม่มีการเรียงตัวของเซลล์อยู่ชิดกันมากจนไม่มีช่องว่างระหว่างเซลล์ (Intercellular space) เซลล์ของเนื้อเยื่อเจริญเหล่านี้เมื่อหยุดแบ่งตัวแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นเนื้อเยื่อถาวรต่อไป
        ชนิดของเนื้อเยื่อเจริญเมื่อจำแนกตามตำแหน่งที่อยู่ในส่วนของพืชแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
                 1. เนื้อเยื่อเจริญปลายยอด (Apical meristem) เป็นเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่บริเวณปลายยอด 
ปลายราก ปลายกิ่ง และที่ตา ทำหน้าที่ช่วยให้ส่วนต่างๆ ของพืชยืดยาวและสูงขึ้น









             2. เนื้อเยื่อเจริญด้านข้าง (Lateral meristem) เป็นเนื้อเจริญที่อยู่บริเวณด้านข้างของลำต้นและรากในพืชใบเลี้ยงคู่ที่มีการเจริญทุติยภูมิ ทำหน้าที่ช่วยเพิ่มขนาดทางด้านข้างหรือเพิ่มความหนาของลำต้นและราก ได้แก่ วาสคิวลาร์แคมเบียม (Vascular cambium) และคอร์กแคมเบียม (Cork cambium) 





          

3. เนื้อเยื่อเจริญระหว่างปล้อง (Intercalary meriatem) เป็นเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่บริเวณข้อหรือเหนือข้อ พบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ทำหน้าที่ช่วยเพิ่มความยาวของปล้อง

ชนิดของเนื้อเยื่อเจริญเมื่อจำแนกตามการเกิดและการเจริญเติบโตจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ

1. เนื้อเยื่อเจริญเริ่มแรกหรือโพรเมอริสเต็ม (Promeristem) เป็นเนื้อเยื่อเจริญที่เกิดขึ้นใหม่จากกลุ่มเซลล์ที่มีรูปร่าง ขนาด และลักษณะคล้ายกันมาก ผนังเซลล์บาง นิวเคลียสใหญ่ แวคิวโอลเล็กหรือไม่มีไซโทพลาสซึมข้น กิจกรรมทางเคมีของพืชสูง และการเรียงตัวของเซลล์ชิดกันไม่มีช่องว่างระหว่างเซลล์ เนื้อเยื่อเจริญกลุ่มนี้พบมากบริเวณ ปลายยอด ปลายราก ปลายกิ่ง และตา

2. เนื้อเยื่อเจริญปฐมภูมิ (Primary meristem) เป็นเนื้อเยื่อเจริญที่ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ที่ได้มาจากการแบ่งตัวของเซลล์ในกลุ่มเนื้อเยื่อเจริญเริ่มแรกหรือโพรเมอริสเต็ม มีการเจริญพัฒนาเปลี่ยนลักษณะรูปร่าง กิจกรรมทางเคมีและคุณสมบัติทางสรีรวิทยาไปจากเดิมแต่ยังไม่สมบูรณ์นัก ทำให้ได้กลุ่มเซลล์ใหม่ 3 กลุ่ม คือ โพรโทเดิร์ม (Protoderm) โพรแคมเบียม (Procambium) และกราวด์เมอริสเต็ม (Ground meristem) กลุ่มเซลล์เหล่านี้จะพบในบริเวณที่ต่ำกว่าปลายยอดและเหนือปลายรากเล็กน้อย ในบริเวณที่เซลล์มีการขยายตัว เนื้อเยื่อเจริญชนิดนี้ยังคงมีการแบ่งเซลล์ การเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงรูปร่างต่อไป

3. เนื้อเยื่อเจริญทุติยภูมิ (Secondary meristem) เป็นเนื้อเยื่อเจริญที่ประกอบด้วย กลุ่มเซลล์ที่เจริญเปลี่ยนแปลงมาจากเนื้อเยื่อเจริญปฐมภูมิ หรือมาจากเนื้อเยื่อถาวรปฐมภูมิบางชนิด เพื่อทำหน้าที่เพิ่มและขยายขนาดความหนาทางด้านข้างของพืช โดยมีการแบ่งตัวและเจริญไปเป็นเนื้อเยื่อถาวรทุติยภูมิ พบในส่วนลำต้นและรากของพืชใบเลี้ยงคู่ และจิมโนสเปิร์ม (สน และ ปรง) เป็นต้น

เนื้อเยื่อเจริญทุติยภูมินี้ประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่สำคัญ 2 ชนิดคือ

3.1 วาสคิวลาร์แคมเบียม (Vascular cambium) เป็นเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่ระหว่างกลุ่มท่อน้ำ (Xylem) และ ท่ออาหาร (Phloem) โดยเจริญมาจากโพรแคมเบียมที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อเยื่อถาวรตั้งแต่แรก หรือเจริญมาจากพาเรงคิมาที่อยู่ระหวางท่อลำเลียงเพื่อทำหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อถาวร กลุ่มท่อลำเลียงทุติยภูมิคือ ไซเลมทุติยภูมิ (Secondary xylem) และโฟลเอ็มทุติยภูมิ (Secondary phloem)

3.2 คอร์ก แคมเบียม (Cork cambium) หรือเฟลโลเจน (Phellogen) เป็นเนื้อเยื่อที่เกิดจากการแบ่งตัวของพาเรงคิมาที่แปรสภาพกลับกลายไป (Differentiation และ Redifferentiation) เป็นเนื้อเยื่อเจริญ เกิดขึ้นใกล้ๆ กับเอพิเดอร์มิสในบริเวณคอร์เทกซ์ (Cortex) ของลำต้น หรือใน เพอริไซเคิล (Pericycle) ของราก เซลล์มีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่อนข้างแบน ผนังบาง เรียงตัวกันแน่น ไม่มีช่องว่างระหว่างเซลล์ มีหน้าที่สร้างคอร์กในส่วนผิวของลำต้นและรากที่มีการเจริญแบบทุติยภูมิ





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบพร้อมเฉลย วิชาพลังงาน

โครงงานประเภทการสำรวจ (Survey Research Project)

โครงงานประเภทการพัฒนาหรือการประดิษฐ์ (Developmental Research Project or Invention)