องค์ประกอบการเรียนรู้
องค์ประกอบการเรียนรู้
เป็นโครงสร้างของกระบวนการเรียนรู้
ที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ตามศักยภาพ
ซึ่งจากการวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญรูปแบบต่าง ๆ
พบว่ามีโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน 4 องค์ประกอบ คือ
1. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์
2. การสร้างความรู้ร่วมกัน
3. การนำเสนอความรู้
4. การประยุกต์ใช้หรือลงมือปฏิบัติ
1. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์
เป็นองค์ประกอบที่ผู้สอนพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนดึงประสบการณ์เดิมของตนมาเชื่อมโยง
หรืออธิบายประสบการณ์หรือเหตุการณ์ใหม่
แล้วนำไปสู่การขบคิดเพื่อเกิดข้อสรุปหรือความรู้ใหม่ และแบ่งเป็นประสบการณ์ของตนเองกับผู้อื่นที่อาจมีประสบการณ์เหมือนหรือต่างจากตนเอง
เป็นการรวบรวมมวลประสบการณ์ที่หลากหลายจากแต่ละคนเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ร่วมกัน
องค์ประกอบนี้ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนและผู้สอน ดังนี้
ผู้เรียน
รู้สึกว่าตนมีความสำคัญเพราะได้มีส่วนร่วมในฐานะสมาชิก
มีผู้ฟังเรื่องราวของตนเองและได้รับรู้เรื่องราวของคนอื่น
นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แล้วยังทำให้สัมพันธภาพในกลุ่มผู้เรียนเป็นไปด้วยดี
ผู้สอน
ไม่เสียเวลาในการอธิบายหรือยกตัวอย่าง
เพียงแต่ใช้เวลาเล็กน้อยในการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
และยังช่วยให้ผู้สอนได้ทราบถึงความรู้พื้นฐานและประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป
ในกรณีที่ผู้เรียนไม่มีประสบการณ์ในเรื่องที่สอนหรือมีน้อย ผู้สอนอาจต้องจัดประสบการณ์ให้ ซึ่งทำได้ทั้งทางตรง เช่น การนำตัวอย่างของจริงมาให้ผู้เรียนได้สัมผัสเพื่อสังเกตความแตกต่าง
และทางอ้อม เช่น
การเล่าประสบการณ์ชีวิตจากเรื่องที่ไม่สามารถจัดประสบการณ์ตรงให้ผู้เรียนได้
กิจกรรมในองค์ประกอบนี้เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ
การตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่มาจากประสบการณ์หลากหลายของผู้เรียน
และการจัดประสบการณ์ที่จำเป็นให้ผู้เรียนเพื่อความเข้าใจหรือกระตุ้นให้เกิดการคิด
โดยมีจุดเน้นสำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้านดังนี้
ด้านความรู้
เป็นประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่จะสอน
ด้านเจตคติ
เป็นการจัดประสบการณ์ด้านอารมณ์ความรู้สึกให้ผู้เรียน
เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกสอดคล้องกับจุดประสงค์
และนำไปสู่การสะท้อนความคิดเห็นและอภิปรายเกี่ยวกับความคิดความเชื่อต่อไป
ด้านทักษะ
เป็นการให้ผู้เรียนได้ทดลองทำทักษะนั้น ๆ
ตามประสบการณ์เดิมหรือสาธิตการทำทักษะเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจชัดเจน
2. การสร้างความรู้ร่วมกัน
เป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์
สังเคราะห์
สร้างสรรค์มวลประสบการณ์ข้อมูล
ความคิดเห็น ฯลฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้ชัดเจน หรือเกิดข้อสรุป/ความรู้ใหม่หรือตรวจสอบ/ปรับ/เปลี่ยนความคิดความเชื่อของตนเอง
กิจกรรมในองค์ประกอบนี้
เป็นกิจกรรมกลุ่มที่เน้นการตั้งประเด็นให้ผู้เรียนได้คิดสะท้อนความคิดหรือบอกความคิดเห็นของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้และได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกันอย่างลึกซึ้ง จนเกิดความเข้าใจชัดเจนได้ข้อสรุปหรือความรู้ใหม่หรือเกิด/ปรับ/เปลี่ยนความคิดความเชื่อตามจุดประสงค์ที่กำหนด
โดยมีจุดเน้นสำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้าน ดังนี้
ด้านความรู้
ตั้งประเด็นให้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เพื่อสรุปความรู้ใหม่ที่ได้ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์
สังเคราะห์ นำไปสู่การเกิดความคิดรวบยอดในเรื่องนั้น
ๆ ตัวอย่างเช่น การสรุปสาระสำคัญ
การวิเคราะห์ กรณีศึกษา การวิเคราะห์เปรียบเทียบ
การวิเคราะห์แยกประเภทหรือจัดกลุ่มการวิเคราะห์ประเด็นความรู้เพื่อหาข้อสรุปและนำไปสู่ความคิดรวบยอด
ฯลฯ
ด้านเจตคติ
ตั้งประเด็นอภิปรายที่ท้าทาย กระตุ้นให้เกิดการคิดหลากหลาย
เน้นในเรื่องคุณค่าอารมณ์ความรู้สึก
ความคิดความเชื่อ
มีความสอดคล้องกับความรู้สึกของผู้เรียนและนำไปสู่จุดประสงค์ที่ต้องการ
ข้อสรุปจากการอภิปรายและความคิดรวบยอดที่ได้จะสอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนด
ด้านทักษะ
ตั้งประเด็นให้อภิปรายโต้แย้งกันในเรื่องขั้นตอนการลงมือทำทักษะ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ในแนวทางปฏิบัติทักษะนั้น
และเกิดความมั่นใจก่อนจะได้ลงมือฝึกปฏิบัติจนชำนาญ
3. การนำเสนอความรู้
เป็นองค์ประกอบที่เน้นให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลความรู้ แนวคิด
ทฤษฎี หลักการ
ขั้นตอน หรือข้อสรุปต่าง ๆ
โดยครูเป็นผู้จัดให้เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการสร้างความรู้ใหม่หรือช่วยให้การเรียนรู้บรรลุจุดประสงค์
กิจกรรมในองค์ประกอบนี้
ได้แก่
- การให้แนวคิด ทฤษฎี หลักการ
ข้อมูลความรู้ ขั้นตอนทักษะ ซึ่งทำได้โดยการบรรยาย ดูวีดีทัศน์
ฟังแถบเสียง อ่านเอกสาร/ใบความรู้/ตำรา
ฯลฯ
- การรวบรวมประสบการณ์ของผู้เรียนที่เป็นผลให้เกิดการเรียนรู้เนื้อหาสาระเพิ่มขึ้น
- ความคิดรวบยอดที่ได้จากการรวบรวมข้อสรุปของการสะท้อนความคิดและอภิปรายประเด็นที่ได้มอบหมายให้
กิจกรรมเหล่านี้ควรทำเป็นขั้นตอนและประสานกับองค์ประกอบการเรียนรู้อื่น
ๆ โดยมีจุดเน้นสำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้าน ดังนี้
ด้านความรู้
ผู้เรียนเกิดความรู้ในเนื้อหาสาระ
ข้อมูลความรู้อย่างชัดเจน
ด้านเจตคติ
ผู้เรียนเกิดความรู้สึกและความคิดความเชื่อที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดให้
ด้านทักษะ ผู้เรียนรับรู้แนวทางปฏิบัติตามขั้นตอนของทักษะนั้น
ๆ อย่างชัดเจน
4. การประยุกต์ใช้หรือลงมือปฏิบัติ
เป็นองค์ประกอบที่ผู้เรียนได้นำความคิดรวบรวมหรือข้อสรุป
หรือความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นไปประยุกต์หรือทดลองใช้
หรือเป็นการแสดงผลสำเร็จของการเรียนรู้ในองค์ประกอบนั้น ๆ
ซึ่งผู้สอนสามารถใช้กิจกรรมในองค์ประกอบนี้ในการประเมินผลการเรียนรู้
เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รู้จักการนำไปใช้ในชีวิตจริง
ไม่ใช่แค่เรียนรู้เท่านั้น
จุดเน้นของกิจกรรมในองค์ประกอบนี้สำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้าน มีดังนี้
ด้านความรู้
เป็นการผลิตซ้ำความคิดรวบยอดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สร้างคำขวัญ ทำแผนภาพ
จัดนิทรรศการ เขียนเรียงความ ทำรายงานสรุปสาระสำคัญ ทำตารางวิเคราะห์/เปรียบเทียบ
ฯลฯ
ด้านเจตคติ
เป็นการแสดงออกที่สอดคล้องกับเจตคติที่เป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ เช่น
เขียนจดหมายให้กำลังใจผู้ติดเชื้อเอดส์
สร้างคำขวัญรณรงค์รักษาความสะอาดในโรงเรียน ฯลฯ
ด้านทักษะ
เป็นการลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนทักษะที่ได้เรียนรู้
การนำองค์ประกอบทั้ง
4 มาจัดกิจกรรมการเรียนรู้
จะใช้องค์ประกอบใดก่อนหลังหรือใช้องค์ประกอบใดกี่ครั้งในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้
สามารถออกแบบตามความเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้และจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนด แต่จำเป็นต้องให้มีครบทั้ง 4 องค์ประกอบ ในแต่ละองค์ประกอบสามารถออกแบบกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ดังที่จะกล่าวต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น